ธุรกิจของบริษัท

1. งานเสาเข็มเจาะแบบกลม (Circular Bored Pile)

      เสาเข็มเจาะเป็นเสาเข็มที่นิยมใช้กับการก่อสร้างฐานรากของโครงสร้างขนาดใหญ่ และโครงสร้างอาคารในบริเวณที่มีพื้นที่จำกัด ซึ่งไม่สามารถใช้เสาเข็มตอกได้ เนื่องจากปัญหาด้านการขนส่ง หรือเนื่องจากบริเวณก่อสร้างชิดอาคารข้างเคียงมาก ซึ่งความสั่นสะเทือนจากการตอกเสาเข็มอาจจะก่อให้เกิดความเสียหายกับอาคารข้างเคียงได้ ส่วนการใช้เสาเข็มเจาะจะไม่ทำให้ดินเกิดการเคลื่อนตัวซึ่งอาจไปดันสิ่งปลูกสร้างข้างเคียงให้เสียหายได้เหมือนกับการตอกเสาเข็ม นอกจากนี้เสาเข็มเจาะยังลดมลภาวะเรื่องเสียงและแรงสั่นสะเทือนเมื่อเทียบกับการใช้เสาเข็มตอก ทั้งนี้งานเสาเข็มเจาะของบริษัทโดยส่วนใหญ่จะเป็นเสาเข็มเจาะแบบกลมที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางตั้งแต่ 50 เซนติเมตรจนถึง 2 เมตร และทำได้ถึงความลึกมากกว่า 80 เมตร ขึ้นอยู่กับการออกแบบกำลังรับน้ำหนักของเสาเข็มโดยวิศวกรและสภาพชั้นดินในแต่ละพื้นที่

2. งานปรับปรุงคุณภาพดินโดยวิธีอัดฉีดซีเมนต์ด้วยแรงดันสูง (Jet Grouting) 

      งานปรับปรุงคุณภาพดิน (Ground Improvement) มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มเสถียรภาพให้กับโครงสร้างของดินเดิม ทำให้ดินมีกำลังรับน้ำหนักมากขึ้นและป้องกันการเคลื่อนตัวของดิน โดยบริษัทมีการให้บริการงานประเภทนี้โดยวิธีการอัดฉีดซีเมนต์ด้วยแรงดันสูง (Jet Grouting) ที่ความดันประมาณ 200 ถึง 400 บาร์ โดยอาจแบ่งลักษณะของงานออกเป็นแต่ละประเภทดังต่อไปนี้

2.1    เสาเข็มดินซีเมนต์  (Soil Cement Column) 
      เป็นการปรับปรุงคุณสมบัติของดินอ่อนตลอดชั้นความหนา เริ่มต้นโดยการอัดฉีดน้ำภายใต้ความดันสูงเพื่อกวนให้ชั้นดินอ่อนตัวและมีขนาดรูปทรงตามที่ต้องการ แล้วจึงอัดฉีดน้ำปูนลงไปผสมกับดินในบริเวณดังกล่าวทำให้เกิดการแข็งตัวกลายเป็นแท่งดินซีเมนต์ ซึ่งมีความสามารถในการรับน้ำหนักตามที่ออกแบบและช่วยลดปัญหาการทรุดตัวของโครงสร้าง การทำเสาเข็มดินซีเมนต์โดยวิธีอัดฉีดซีเมนต์ด้วยแรงดันสูง (Jet Grouting) จะให้คุณภาพแท่งดินซีเมนต์และความสม่ำเสมอของเนื้อดินซีเมนต์ที่ดีกว่าวิธีทั่วไปซึ่งมีทั้งแบบใช้ความดันต่ำ (Low Pressure Mix) และแบบใช้ใบกวนดิน (Rotary Mix) ในปัจจุบันมีการนำเสาเข็มดินซีเมนต์ไปประยุกต์ใช้หลายรูปแบบเช่น ฐานรากงานถนน ลานจอดเครื่องบิน เขื่อน ประตูระบายน้ำ รวมไปถึงการเพิ่มเสถียรภาพให้กับตลิ่งของคลอง 

2.2    การเพิ่มกำลังรับน้ำหนักและเสถียรภาพของดินเฉพาะจุด 
เป็นการปรับปรุงคุณสมบัติและกำลังของดินหรือหินเฉพาะจุด เช่น งานอัดฉีดรอยแตกของชั้นหินหรือดินในงานก่อสร้างเขื่อน การเพิ่มเสถียรภาพและกำลังของดินในงานขุดหรืองานเจาะเฉพาะที่ 


3. งานก่อสร้างกำแพงกันดินชนิดไดอะแฟรม/ เสาเข็มเจาะแบบเหลี่ยม (Diaphragm Wall/ Barrette Pile)

      กำแพงกันดินชนิดไดอะแฟรมเป็นการก่อสร้างกำแพงโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็นโครงสร้างรับน้ำหนักและป้องกันการเคลื่อนตัวของดินทางด้านข้าง โดยจะทำการก่อสร้างกำแพงในชั้นที่ต่ำกว่าผิวดินด้วยคอนกรีตเสริมเหล็กคล้ายคลึงกับการทำเสาเข็มเจาะแบบเปียก ซึ่งการใช้เทคโนโลยีในการก่อสร้างกำแพงกันดินชนิดนี้ทำให้ไม่ต้องใช้ Sheet Pile และสามารถสร้างกำแพงกันดินใต้ดินแบบถาวรที่มีหน้าตัดเป็นสี่เหลี่ยมเหมือนกำแพงทั่วไป แต่มีความแข็งแรงและสามารถป้องกันการรั่วซึมของน้ำได้ ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้เพื่อเป็นโครงสร้างของชั้นจอดรถใต้ดิน กำแพงอาคารผู้โดยสารสำหรับระบบรถไฟฟ้าใต้ดิน และอุโมงค์ลอดทางแยก เป็นต้น

      การออกแบบก่อสร้างกำแพงกันดินนั้นสามารถกำหนดความหนาของผนังกำแพงได้ตั้งแต่ 50 เซนติเมตร จนถึง 1.5 เมตร โดยเริ่มจากการตักดินขุดหลุมตามขนาดและแนวที่จะทำกำแพง จากนั้นจึงเติมสารละลายพยุงหลุมเจาะ เพื่อป้องกันการพังทลายของดิน แล้วจึงหย่อนเหล็กเสริมที่ผูกเป็นโครงไว้แล้วลงไป หลังจากนั้นจะเทคอนกรีต เมื่อทิ้งไว้จนคอนกรีตแข็งตัวมีกำลังตามที่กำหนดแล้ว จึงขุดดินเพื่อทำชั้นใต้ดิน หรือทำการก่อสร้างส่วนอื่นต่อไป

      เสาเข็มเจาะแบบเหลี่ยม เป็นเสาเข็มหน้าตัดทรงสี่เหลี่ยมที่นิยมใช้เป็นทางเลือกในกรณีที่ต้องการกำลังรับน้ำหนักบรรทุกปลอดภัยสูง เช่น มากกว่า 2,000 ตันต่อต้น หรือมีข้อจำกัดเรื่องขนาดของพื้นที่ก่อสร้าง ซึ่งเสาเข็มเจาะแบบกลมไม่สามารถก่อสร้างได้ โดยขนาดหน้าตัดสามารถปรับเปลี่ยนได้โดยมีความกว้างโดยทั่วไปตั้งแต่ 60 เซนติเมตร จนถึง 1.5 เมตร ความยาว 2.5 เมตรถึง 3.0 เมตร และมีความลึกได้มากกว่า 60 เมตร ขึ้นอยู่กับการออกแบบกำลังรับน้ำหนักและสภาพชั้นดินในแต่ละพื้นที่

      การก่อสร้างเสาเข็มเจาะแบบเหลี่ยม จะก่อสร้างโดยทำการเจาะดินลงไปตามขนาดหน้าตัดและความลึกที่ต้องการ ซึ่งจะมีการเติมสารละลายพยุงหลุมเจาะลงไป เพื่อป้องกันการพังทลายของดิน เมื่อเสร็จแล้วจึงติดตั้งโครงเหล็กและเทคอนกรีตลงไปในหลุม