นโยบายการกำกับดูแลกิจการ

        การกำกับดูแลกิจการ (Corporate Governance) หรือบรรษัทภิบาล ตามความหมายของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย คือ ระบบที่จัดให้มีโครงสร้าง และกระบวนการของความสัมพันธ์ระหว่างคณะกรรมการ  ฝ่ายจัดการ และผู้ถือหุ้น เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขัน นำไปสู่การเจริญเติบโตและเพิ่มมูลค่าให้กับผู้ถือหุ้นในระยะยาว โดยคำนึงถึงผู้มีส่วนได้เสียอื่นด้วย ดังนั้น คณะกรรมการบริษัทจึงได้ดำเนินธุรกิจภายใต้หลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีตามหลักเกณฑ์การกำกับดูแลกิจการที่ดี และระเบียบปฏิบัติของคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์เพื่อเสริมสร้างองค์กรให้มีระบบการบริหารงานที่มีประสิทธิภาพ และเป็นพื้นฐานของการเติบโตทางธุรกิจอย่างยั่งยืน ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็น 5 หมวด ดังนี้

 
  1. สิทธิของผู้ถือหุ้น
  2. การปฏิบัติต่อผู้ถือหุ้นอย่างเท่าเทียมกัน
  3. บทบาทของผู้มีส่วนได้เสีย
  4. การเปิดเผยข้อมูลและความโปร่งใส
  5. ความรับผิดชอบของคณะกรรมการ

หมวดที่ 1 และ 2 สิทธิของผู้ถือหุ้นและการปฏิบัติต่อผู้ถือหุ้นอย่างเท่าเทียมกัน

     
      บริษัทเคารพสิทธิของผู้ถือหุ้นและการปฏิบัติต่อผู้ถือหุ้นอย่างเท่าเทียมกัน ทั้งสิทธิพื้นฐานตามกฎหมาย เช่น การเข้าร่วมประชุมเพื่อใช้สิทธิออกเสียงในการประชุมผู้ถือหุ้น การอนุมัติจ่ายเงินปันผล การกำหนดค่าตอบแทนกรรมการ เป็นต้น และสิทธิมากกว่าสิทธิตามกฎหมาย โดยเปิดเผยข้อมูล ข่าวสารต่างๆ ที่สำคัญให้ผู้ถือหุ้นรับทราบผ่านทางเว็บไซต์ของบริษัท

      ในเรื่องการประชุมผู้ถือหุ้น ก่อนการจัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี บริษัทได้เปิดโอกาสให้ผู้ถือหุ้นเสนอวาระการประชุมและเสนอชื่อกรรมการบริษัทล่วงหน้าตั้งแต่ต้นเดือนธันวาคม  โดยคณะกรรมการบริษัทได้กำหนดหลักเกณฑ์ต่างๆ เช่น สัดส่วนการถือหุ้นของผู้ที่เสนอ รายละเอียดของข้อมูลประกอบการพิจารณา ช่องทางรับเรื่อง กำหนดเวลารับเรื่อง และได้มีการแจ้งข้อมูลผ่านระบบเผยแพร่ข้อมูลของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และเปิดเผยรายละเอียดหลักเกณฑ์ในเว็บไซต์ของบริษัท  สำหรับการส่งหนังสือเชิญประชุม บริษัทได้แนบข้อมูลประกอบการพิจารณาในแต่ละวาระให้ผู้ถือหุ้นได้รับทราบ รวมทั้งหนังสือมอบฉันทะแบบต่างๆ และรายชื่อกรรมการอิสระในกรณีไม่สามารถมาร่วมประชุมได้แต่ต้องการตัวแทนในการมอบฉันทะ โดยบริษัทได้เผยแพร่หนังสือเชิญประชุมพร้อมเอกสารแนบทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษในเว็บไซต์ของบริษัทล่วงหน้า เพื่อให้ผู้ถือหุ้นได้พิจารณาข้อมูลก่อนได้รับเอกสารฉบับจริง

      ในวันประชุมผู้ถือหุ้น กรรมการบริษัทจะเข้าร่วมประชุมทุกท่านหากไม่มีเหตุจำเป็นซึ่งไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ซึ่งในปีที่ผ่านมา มีกรรมการบริษัทเข้าร่วมประชุมทุกท่าน เมื่อเริ่มประชุมประธานในที่ประชุมซึ่งเป็นประธานกรรมการได้แจ้งกฎเกณฑ์ที่ใช้ในการประชุม และให้สิทธิผู้ถือหุ้นได้เลือกกรรมการเป็นรายบุคคล รวมทั้งเปิดโอกาสให้ผู้ถือหุ้นได้แสดงความคิดเห็นและซักถามในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการประชุมหรือเกี่ยวข้องกับบริษัท นอกจากนี้ บริษัทได้เปิดโอกาสให้ผู้ถือหุ้นได้ส่งคำถามมายังบริษัทล่วงหน้าผ่านทางอีเมลของบริษัทอีกด้วย อีกทั้ง บริษัทไม่มีการแจกเอกสารที่มีข้อมูลสำคัญเพิ่มเติมในที่ประชุมผู้ถือหุ้นอย่างกระทันหัน ไม่เพิ่มวาระการประชุมหรือเปลี่ยนแปลงข้อมูลสำคัญโดยไม่แจ้งให้ผู้ถือหุ้นทราบล่วงหน้า ไม่จำกัดสิทธิในการเข้าประชุมของผู้ถือหุ้นที่มาสายอีกด้วย (หากผู้ถือหุ้นท่านใดมาสาย ก็ยังมีสิทธิเข้าร่วมประชุมและออกเสียงในวาระถัดไป)

      ภายหลังการประชุมผู้ถือหุ้น บริษัทได้จัดทำรายงานการประชุมและเผยแพร่รายงานการประชุมในเว็บไซต์ของบริษัทภายใน 14 วัน

      สำหรับการดูแลเรื่องการใช้ข้อมูลภายใน คณะกรรมการบริษัทมีนโยบายมิให้กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานที่รับทราบข้อมูลภายในนำข้อมูลภายในไปใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตนและผู้อื่น ซึ่งรายละเอียดอยู่ในหัวข้อการดูแลการใช้ข้อมูลภายใน

      นอกจากนี้ในเรื่องการทำรายการที่เกี่ยวโยง บริษัทมีมาตรการหรือขั้นตอนการอนุมัติการทำรายการที่เกี่ยวโยง ซึ่งกรรมการที่มีส่วนได้เสียหรือมีส่วนเกี่ยวข้องจะไม่มีสิทธิออกเสียงในกระบวนการพิจารณาธุรกรรมระหว่างบริษัทกับผู้มีส่วนได้เสียหรือมีส่วนเกี่ยวข้อง

หมวดที่ 3 บทบาทของผู้มีส่วนได้เสีย


3.1    การดูแลสิทธิของผู้มีส่วนได้เสีย
      
บริษัทจะปฏิบัติต่อผู้มีส่วนได้เสียตามสิทธิที่มีตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และจะดูแลให้มีการส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือระหว่างบริษัทกับผู้มีส่วนได้เสียในการสร้างการเติบโตและความยั่งยืนของกิจการ 
      โดยบริษัท ได้ให้ความสำคัญในการดูแลและคำนึงถึงสิทธิผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่มทั้งภายใน และภายนอกบริษัท ตั้งแต่ผู้ถือหุ้น พนักงาน ลูกค้า เจ้าหนี้ คู่ค้า คู่แข่งทางการค้า ตามสิทธิที่มีตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง รวมถึงความรับผิดชอบต่อสังคมและส่วนรวม คณะกรรมการบริษัทจึงได้กำหนดนโยบายไว้ในจริยธรรมธุรกิจและข้อพึงปฏิบัติในการทำงานที่เป็นลายลักษณ์อักษร โดยได้เปิดเผยในเว็บไซต์ สำหรับใช้เป็นแนวทางการปฏิบัติ เพื่อให้คณะกรรมการบริษัท ฝ่ายบริหาร และพนักงานของบริษัทยึดถือเป็นหลักปฏิบัติในการดำเนินงาน โดยถือเป็นภาระหน้าที่ และเป็นวินัยที่ทุกคนพึงปฏิบัติ ซึ่งสรุปได้ดังนี้ 

      นโยบายการปฏิบัติต่อผู้ถือหุ้น
      เพื่อให้บริษัท ได้มีหลักการปฏิบัติอย่างเสมอภาคเท่าเทียมกันต่อผู้ถือหุ้น บริษัทได้กำหนดแนวทางปฏิบัติดังนี้

  1. ดำเนินธุรกิจด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ตลอดจนตัดสินใจดำเนินการใดๆ ด้วยความระมัดระวังรอบคอบ และเป็นธรรมต่อผู้ถือหุ้น เพื่อประโยชน์สูงสุดของผู้ถือหุ้นทุกราย
2. กำกับดูแลการดำเนินงาน เพื่อให้มั่นใจว่า บริษัทมีสถานะทางการเงิน การบริหารและการจัดการที่ถูกต้องเหมาะสม เพื่อปกป้องและเพิ่มผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้น
3. มุ่งมั่นในการสร้างความเจริญเติบโตอย่างมีคุณภาพและมั่นคง เพื่อให้ผู้ถือหุ้นได้รับผลตอบแทนที่ดีสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม
4. เคารพสิทธิของผู้ถือหุ้นในการได้รับข้อมูลที่จำเป็นเพื่อประเมินบริษัท โดยเท่าเทียมกัน และจะเปิดเผยผลประกอบการ ฐานะการเงิน พร้อมข้อมูลสนับสนุนที่ถูกต้องตามความจริง ตามที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์กำหนด
5. ปฏิบัติต่อผู้ถือหุ้นทุกรายอย่างเท่าเทียมกัน ทั้งในการประชุมผู้ถือหุ้น และกรณีอื่นๆ
6. จะบริหารองค์กรโดยยึดมั่นในคุณธรรมและจริยธรรม รวมทั้งส่งเสริมให้มีคุณธรรมและจริยธรรมในทุกระดับขององค์กร สอดส่องดูแลและจัดการแก้ปัญหาความขัดแย้งทางผลประโยชน์ที่อาจเกิดขึ้นในองค์กร

      ในปี 2560 ไม่มีข้อพิพาทฟ้องร้อง หรือข้อร้องเรียนใดๆ ระหว่างบริษัท กับผู้ถือหุ้น

      นโยบายการปฏิบัติต่อพนักงาน
      บริษัท ตระหนักอยู่เสมอว่าพนักงานทุกคนเป็นทรัพยากรที่สำคัญของบริษัท เป็นปัจจัยแห่งความสำเร็จของการบรรลุเป้าหมายของบริษัท บริษัทจึงให้การดูแลตลอดจนให้ความเป็นธรรมในด้านโอกาส  ผลตอบแทน การแต่งตั้ง โยกย้าย ตลอดจนการพัฒนาศักยภาพของพนักงาน โดยบริษัท ได้ยึดหลักปฏิบัติดังต่อไปนี้

  1. ปฏิบัติต่อพนักงานด้วยความเคารพในเกียรติ ศักดิ์ศรี และสิทธิส่วนบุคคล
2. ดูแลรักษาสภาพแวดล้อมในการทำงานให้มีความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สินของพนักงานอยู่เสมอ
3. การแต่งตั้งและโยกย้าย รวมถึงการให้รางวัลและการลงโทษพนักงาน กระทำด้วยความสุจริตใจ และตั้งอยู่บนพื้นฐานของความรู้ความสามารถและความเหมาะสมของพนักงานแต่ละคน
4. ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาความรู้ความสามารถของพนักงาน โดยมีการพัฒนาพนักงานในหลายรูปแบบ อาทิ การจัดสัมมนา การฝึกอบรม เป็นต้น
5. กำหนดนโยบายค่าตอบแทนพนักงานและสวัสดิการแก่พนักงานอย่างเป็นธรรม ที่สอดคล้องกับผลการดำเนินงานของบริษัททั้งในระยะสั้น เช่น สภาพตลาด การแข่งขันทางธุรกิจ ลักษณะของงาน ผลการปฏิบัติงาน และความสามารถในการทำกำไรในแต่ละปี เป็นต้น และในระยะยาว เช่น การวัดผลการปฏิบัติงานตาม Balanced Scorecard เป็นต้น
6. รับฟังข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะซึ่งตั้งอยู่บนพื้นฐานความรู้ทางวิชาชีพของพนักงาน

      โดยในปี 2560 บริษัทไม่มีข้อพิพาทฟ้องร้อง หรือข้อร้องเรียนใดๆ ระหว่างบริษัท กับพนักงาน

      นโยบายการปฏิบัติต่อลูกค้า
      บริษัทฯ เชื่อมั่นในคุณค่าของการสร้างความพึงพอใจ และความมั่นใจอย่างต่อเนื่องให้กับลูกค้า ซึ่งเป็นผู้มีพระคุณของบริษัทอย่างต่อเนื่อง บริษัทฯจึงได้กำหนดนโยบายการปฏิบัติต่อลูกค้าดังนี้

  1. ให้บริการอย่างมีคุณภาพแก่ลูกค้าในราคาที่เป็นธรรม
2. ให้ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องแก่ลูกค้า โดยไม่มีการกล่าวเกินความเป็นจริง อันเป็นเหตุให้ลูกค้าเข้าใจผิดเกี่ยวกับคุณภาพ ปริมาณหรือเงื่อนไขใดๆ ของบริการนั้นๆ
3. พึงรักษาผลประโยชน์ของลูกค้าด้วยความซื่อสัตย์สุจริต พร้อมทั้งให้คำแนะนำในบริการที่ดี และเป็นประโยชน์ต่อลูกค้า
4. ไม่พึงเรียกร้องหรือรับผลประโยชน์จากลูกค้า โดยอาศัยตำแหน่งหน้าที่ของตน
5. ไม่พึงนำข้อมูลของลูกค้าไปใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตน

      โดยในปี 2560 ไม่มีข้อพิพาทฟ้องร้อง หรือข้อร้องเรียนใดๆ ระหว่างบริษัท กับลูกค้า

      นโยบายการปฏิบัติต่อเจ้าหนี้ 

      คณะกรรมการบริษัทได้กำหนดนโยบายเกี่ยวกับการปฏิบัติที่เป็นธรรมและรับผิดชอบต่อเจ้าหนี้โดยเฉพาะเรื่องเงื่อนไขค้ำประกัน การบริหารเงินทุน และกรณีที่เกิดการผิดนัดชำระหนี้ไว้อย่างชัดเจนเป็นรูปธรรมและเปิดเผยถึงการปฏิบัติไว้ให้เป็นที่ทราบ เช่น ด้านการบริหารเงินทุน บริษัทมีนโยบายที่จะรักษาอัตราส่วนสภาพคล่องให้อยู่ในระดับสูงเพียงพอ และรักษาอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม เพื่อให้บริษัทมีความสามารถในการชำระหนี้ให้กับเจ้าหนี้ได้อย่างต่อเนื่อง ตรงตามกำหนดเวลา ด้านเงื่อนไขการค้ำประกัน บริษัทมีนโยบายที่จะดูแลผู้ที่ค้ำประกันไม่ให้ได้รับความเสียหาย หากมีปัญหาบริษัทจะเข้าไปรับผิดชอบ ด้านการผิดนัดชำระหนี้ บริษัทมีนโยบายที่จะไม่ผิดนัดชำระหนี้ บริษัทจะเร่งเข้าไปจัดการ และแก้ไขปัญหาเพื่อให้สามารถชำระหนี้คืนแก่เจ้าหนี้

      โดยในปี 2560 บริษัทได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่มีต่อเจ้าหนี้โดยครบถ้วนและไม่มีเหตุการณ์ผิดนัดชำระหนี้ใดๆ

      นโยบายการปฏิบัติต่อคู่ค้า และคู่สัญญา

      บริษัทปฏิบัติกับคู่ค้าซึ่งเป็นหุ้นส่วนและปัจจัยแห่งความสำเร็จทางธุรกิจที่สำคัญประการหนึ่งด้วยความเสมอภาค และคำนึงถึงผลประโยชน์ร่วมกัน โดยบริษัทได้ยึดหลักปฏิบัติดังต่อไปนี้

   1. การจัดหาสินค้าและบริการเป็นไปอย่างมีระบบ และมีมาตรฐาน ภายใต้หลักการดังนี้
  • มีการแข่งขันบนข้อมูลที่เท่าเทียมกัน
  • มีหลักเกณฑ์ในการประเมินและคัดเลือกคู่ค้า
  • จัดทำสัญญาที่เหมาะสมไม่เอาเปรียบคู่สัญญา
  • จัดให้มีระบบการจัดการและติดตาม เพื่อให้มั่นใจว่ามีการปฏิบัติตามเงื่อนไขของสัญญาอย่างครบถ้วน และป้องกันการทุจริตประพฤติมิชอบในทุกขั้นตอนของกระบวนการจัดหา
  • จ่ายเงินให้คู่ค้าและคู่สัญญาตรงเวลา ตามเงื่อนไขของการชำระเงินที่ตกลงกัน
2. พัฒนาและรักษาสัมพันธภาพที่ยั่งยืนกับคู่ค้าและคู่สัญญา และมีความเชื่อถือซึ่งกันและกัน ไม่กระทำการโฆษณาที่เป็นเท็จ หรือหลอกลวงให้คู่ค้าและคู่สัญญาเข้าใจผิด
3. บริษัทจะปฏิบัติต่อคู่ค้าและคู่สัญญาอย่างเสมอภาคและเป็นธรรม และตั้งอยู่บนพื้นฐานของการได้รับผลตอบแทนที่เป็นธรรมทั้งสองฝ่าย รวมทั้งปฏิบัติตามสัญญาหรือเงื่อนไขที่ตกลงไว้โดยเคร่งครัด
4. บริษัทมุ่งหมายที่จะพัฒนาและรักษาสัมพันธภาพที่ยั่งยืนกับคู่ค้าและคู่สัญญาโดยมีวัตถุประสงค์ชัดเจน ในเรื่องคุณภาพของสินค้าและบริการที่คู่ควรกับมูลค่าเงิน คุณภาพทางด้านเทคนิคและมีความเชื่อถือซึ่งกันและกัน

      โดยในปี 2560 ไม่มีข้อพิพาทฟ้องร้อง หรือข้อร้องเรียนใดๆ ระหว่างบริษัท กับคู่ค้าและคู่สัญญา

      นโยบายการปฏิบัติต่อคู่แข่งทางการค้า

      บริษัทดำเนินธุรกิจภายใต้กรอบกติกาของการแข่งขันที่เป็นธรรม โดยยึดหลักปฏิบัติดังนี้

  1. ไม่แสวงหาข้อมูลที่เป็นความลับของคู่แข่งทางการค้าด้วยวิธีที่ไม่สุจริต หรือไม่เหมาะสม
2. ไม่ทำลายชื่อเสียงของคู่แข่งทางการค้า ด้วยการกล่าวหาในทางให้ร้าย
3. ไม่กระทำการใดๆ ที่เป็นการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของผู้อื่น หรือคู่แข่งทางการค้า

      โดยในปี 2560 ไม่มีข้อพิพาทฟ้องร้อง หรือข้อร้องเรียนใดๆ ระหว่างบริษัท กับคู่แข่งทางการค้า 

      ความรับผิดชอบต่อสังคม และส่วนรวม
      บริษัทให้ความสำคัญต่อการรับผิดชอบต่อสังคมและส่วนรวม ดังนี้ 

  1. ปฏิบัติตนให้เป็นไปตามข้อกำหนดของกฎหมาย หรือข้อบังคับต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง
2. คำนึงถึงการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและมีการจัดการเกี่ยวกับความปลอดภัย

      โดยในปี 2560 บริษัทให้ความสำคัญต่อการรับผิดชอบต่อสังคมและส่วนรวม โดยปฏิบัติตามข้อกฎหมาย หรือข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อมและมีมาตรการการจัดการเกี่ยวกับความปลอดภัยในการดำเนินงานด้วย  โดยในด้านสิ่งแวดล้อม บริษัทได้กำหนดมาตรการในการลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมทั้งส่วนหน่วยงานและโรงงานซ่อมบำรุง นอกจากนี้ บริษัทได้มีการรณรงค์ให้พนักงานช่วยกันประหยัดทรัพยากรและพลังงานด้านต่างๆ ทั้งการใช้ไฟฟ้า น้ำประปา และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้น้ำมัน ซึ่งจากการติดตามพบว่า มีการใช้น้ำมันอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น  

      นอกจากนี้ในปี 2560 บริษัทเห็นว่าโรงพยาบาลรัฐบางแห่งยังขาดแคลนอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็นหลายรายการ จึงทำการสำรวจและพบว่าโรงพยาบาลปทุมธานีซึ่งเป็นโรงพยาบาลรัฐยังขาดแคลนอุปกรณ์เครื่องวัดออกซิเจนในเลือดและความดันโลหิตสำหรับใช้ที่หน่วย OPD โดยเครื่องมีคุณสมบัติทั่วไป คือ เครื่องวัดความดันโลหิตอัตโนมัติ ชนิดไม่แทงเส้น (Non – Invasive Blood Pressure) สามารถใช้งานได้ตั้งแต่เด็กแรกเกิดจนถึงผู้ใหญ่  โดยใช้วิธีการวัดแบบ  Oscillometric  ในการหาค่าความดัน Systolic, Diastolic, Mean Arterial Pressure (MAP) และอัตราการเต้นของหัวใจ (Pulse Rate) พร้อมวัดความอิ่มตัวของออกซิเจนในเลือดโดยวัดผ่านทางผิวหนัง อีกทั้ง มีคุณลักษณะเฉพาะอีกหลายประการที่เป็นการเพิ่มศักยภาพในการรักษาคนไข้ให้เพียงพอต่อความต้องการที่มากขึ้นในทุกๆวัน โดยบริจาคเป็นจำนวน 1 เครื่อง คิดเป็นมูลค่า 100,000 บาท และบริษัทได้บริจาคเงินสดเพื่อการกุศลงานกาชาด งานทอดกฐินสามัคคี และสนับสนุนงานวิ่งกับมูลนิธิ โรงพยาบาลเด็กเป็นจำนวนเงินรวม 60,000 บาท

3.2    การเคารพสิทธิมนุษยชน
 
    คณะกรรมการบริษัทได้กำหนดนโยบายที่จะไม่เกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยกำหนดเป็นแนวทางการปฏิบัติให้กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานของบริษัททุกคนเคารพในหลักสิทธิมนุษยชน ดังนี้

 
  • บริษัทปฏิบัติต่อพนักงานทุกคนด้วยความเคารพในเกียรติและศักดิ์ศรี
  • บริษัทเปิดโอกาสให้พนักงานมีช่องทางสื่อสาร เสนอแนะร้องทุกข์ในเรื่องคับข้องใจเกี่ยวกับการทำงาน ซึ่งข้อเสนอต่างๆ จะได้รับการพิจารณาอย่างจริงจัง และกำหนดวิธีการแก้ไข เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ทุกฝ่าย และสร้างความสัมพันธ์อันดีในการทำงานร่วมกัน
  • บริษัทสนับสนุนให้พนักงานใช้สิทธิของตนในฐานะพลเมืองโดยชอบธรรมตามรัฐธรรมนูญ และตามกฎหมาย
  • บริษัทรักษาข้อมูลส่วนบุคคลของพนักงาน เช่น ชีวประวัติ ประวัติสุขภาพ ประวัติการทำงาน ฯลฯ การเปิดเผยหรือการถ่ายโอนข้อมูลส่วนตัวของพนักงานสู่สาธารณะจะทำได้ต่อเมื่อได้รับความเห็นชอบจากพนักงานผู้นั้น ทั้งนี้ การล่วงละเมิดถือเป็นความผิดทางวินัย เว้นแต่ได้กระทำไปตามระเบียบบริษัท หรือตามกฎหมาย
  • บริษัทไม่สนับสนุนกิจการที่ละเมิดหลักสิทธิมนุษยชนสากลและการทุจริต
  • พนักงานทุกคนต้องไม่กระทำการใดๆ ที่เป็นการละเมิดหรือคุกคามไม่ว่าจะเป็นทางวาจาหรือการกระทำต่อผู้อื่นบนพื้นฐานของเชื้อชาติ เพศ ศาสนา อายุ ความพิการทางร่างกายและจิตใจ

      นอกจากนี้ บริษัทได้กำหนดแนวทางปฏิบัติในการจัดจ้างแรงงานทั้งพนักงานและคู่ค้าทางธุรกิจโดยการปฏิบัติตามกฎหมายแรงงานโดยเคร่งครัด ทั้งในเรื่องการจ้างงานเด็ก หรือการบังคับใช้แรงงาน รวมทั้งการจัดให้มีระบบการทำงานที่มุ่งเน้นความปลอดภัยและสุขอนามัยในสถานที่ที่เหมาะสม โดยในปี 2560 ไม่เคยมีการรายงานหรือการร้องเรียนเกี่ยวกับการฝ่าฝืนในเรื่องสิทธิมนุษยชน
 

3.3   ทรัพย์สินทางปัญญาหรือลิขสิทธิ์
      
      คณะกรรมการบริษัทมีการกำหนดนโยบายที่จะไม่ล่วงละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาหรือลิขสิทธิ์ และมีแนวปฏิบัติโดยกำหนดให้มีการตรวจสอบผลงานหรือข้อมูลอันเป็นสิทธิของบุคคลภายนอกที่ได้รับมาหรือที่จะนำมาใช้ภายในบริษัทก่อน เพื่อป้องกันการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาหรือลิขสิทธิ์ของผู้อื่น หากมีกรณีการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาหรือลิขสิทธิ์ บริษัทจะเร่งแก้ไขและชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้ที่ถูกละเมิด

3.4   การต่อต้านทุจริต และการควบคุมการทุจริต

      
คณะกรรมการบริษัทให้ความสำคัญในการดำเนินธุรกิจอย่างสุจริต เป็นธรรมและโปร่งใส ดังนั้นในปี 2559 คณะกรรมการบริษัทจึงเห็นชอบให้บริษัทร่วมลงนามแสดงเจตนารมณ์เข้าร่วมโครงการสร้างแนวร่วมปฏิบัติ (Collective Action Coalition : CAC) เพื่อการต่อต้านการทุจริตในภาคเอกชน กับ IOD หอการค้าไทย หอการค้าต่างชาติ สมาคมบริษัทจดทะเบียน ซึ่งโครงการดังกล่าวถือเป็นโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลและสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ
      บริษัทมีกระบวนการในการประเมินความเสี่ยงจากการทุจริต โดยในการประเมินความเสี่ยงของบริษัทได้มีการประเมินความเสี่ยงจากการทุจริต นอกจากนี้ระบบการควบคุมภายในของบริษัทได้มีกระบวนการในการประเมินความเสี่ยงจากการทุจริต มีแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการกำกับดูแล ควบคุม ป้องกัน ติดตาม และประเมินผล ว่าบริษัทได้มีการปฏิบัติตามนโยบายตรวจสอบระบบการควบคุมภายในที่เพียงพอและเหมาะสม เพื่อให้สามารถตรวจสอบ ควบคุมดูแล ป้องกัน และติดตามว่า ระบบงานใดของบริษัทมีการทุจริตหรือไม่  
      บริษัทได้มีการฝึกอบรมแก่พนักงานเป็นระยะๆ เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับนโยบายและแนวปฏิบัติในการต่อต้านการทุจริตของบริษัท นอกจากนี้เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2557 ผู้บริหาร ผู้จัดการโครงการ วิศวกร โฟร์แมนผู้ควบคุมงานได้ประกาศเจตนารมย์ร่วมกันที่จะต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบภายในองค์กร และภายนอกองค์กร เพื่อป้องกันการเกิดการทุจริตคอร์รัปชั่นทุกรูปแบบทั้งทางตรงและทางอ้อม พร้อมทั้งกำหนดนโยบายการต่อต้านการคอร์รัปชั่น และคู่มือมาตรการต่อต้านคอร์รัปชั่น โดยได้สื่อสารให้พนักงานรับทราบและเปิดเผยไว้บนเว็บไซต์ของบริษัท เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติสำหรับบริษัท และบริษัทย่อย โดยเมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2561 บริษัทได้ยื่นเอกสารเพื่อประกอบการพิจารณาการรับรองเป็นสมาชิกแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านทุจริต (“CAC”) ขณะนี้อยู่ระหว่างรอการพิจารณา

3.5   การรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน

      คณะกรรมการบริษัทส่งเสริมให้มีการให้ความรู้ และฝึกอบรมพนักงานในเรื่องสิ่งแวดล้อม โดยกำหนดเป็นนโยบาย และเปิดเผยถึงการปฏิบัติให้เป็นที่ทราบอย่างชัดเจน ถือเป็นแนวปฏิบัติอย่างเคร่งครัด และปฏิบัติตามกฎหมายและมาตรฐานทางด้านสิ่งแวดล้อมต่างๆ และได้เปิดเผยไว้ในหัวข้อที่ 10 เรื่องความรับผิดชอบต่อสังคม

นโยบายการแจ้งเบาะแสการกระทำผิด (Whistle Blowing) 

      บริษัทมีนโยบายที่จะเปิดโอกาสให้มีผู้มีส่วนได้เสียทั้งภายในและภายนอกองค์กรแจ้งเบาะแสหรือข้อร้องเรียนเกี่ยวกับการกระทำผิดกฏหมาย จรรยาบรรณ การถูกละเมิดสิทธิ รายงานทางการเงินที่ไม่ถูกต้อง หรือระบบควบคุมภายในที่บกพร่องต่อคณะกรรมการบริษัทได้ โดยผู้มีส่วนได้เสียสามารถแจ้งต่อกรรมการตรวจสอบและกำกับดูแลกิจการท่านใดท่านหนึ่งหรือเลขานุการบริษัท เพื่อนำเสนอให้คณะกรรมการตรวจสอบและกำกับดูแลกิจการพิจารณาตรวจสอบข้อเท็จจริง เมื่อคณะกรรมการตรวจสอบและกำกับดูแลกิจการพิจารณาแล้วให้รายงานต่อคณะกรรมการบริษัทเพื่อพิจารณาดำเนินการตามที่คณะกรรมการบริษัทเห็นสมควรต่อไป (เปิดเผยใน 56-1 หมวดที่ 3 บทบาทของผู้มีส่วนได้เสีย)

กระบวนการในการจัดการเมื่อได้รับแจ้งเบาะแสหรือข้อร้องเรียน

 
  1. รวบรวมข้อเท็จจริงเพื่อนำส่งให้กับคณะกรรมการตรวจสอบและกำกับดูแลกิจการ
          กรรมการตรวจสอบและกำกับดูแลกิจการหรือเลขานุการบริษัทที่รับแจ้งเบาะแสหรือข้อร้องเรียนจะดำเนินการรวบรวมข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องกับการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมายหรือจรรยาบรรณ การละเมิดสิทธิ การรายงานทางการเงินที่ไม่ถูกต้อง หรือความบกพร่องของระบบควบคุมภายใน โดยผู้รับแจ้งเบาะแสหรือข้อร้องเรียนอาจจะดำเนินการด้วยตนเองหรือมอบหมายให้บุคคลที่เกี่ยวข้องดำเนินการ
  2. คณะกรรมการตรวจสอบและกำกับดูแลกิจการจัดให้มีการประชุม 
          คณะกรรมการตรวจสอบและกำกับดูแลกิจการจัดการประชุม และพิจารณาเรื่องที่มีผู้แจ้งเบาะแสหรือร้องเรียนจากข้อเท็จจริงทั้งหมดที่รวบรวมได้ รวมถึงการซักถาม หรือขอข้อมูลจากฝ่ายบริหาร (แล้วแต่กรณี) และจัดทำรายงานเพื่อเสนอต่อคณะกรรมการบริษัทต่อไป 
  3. คณะกรรมการบริษัทพิจารณารายงานของคณะกรรมการตรวจสอบและกำกับดูแลกิจการ
          คณะกรรมการบริษัทพิจารณารายงานของคณะกรรมการตรวจสอบและกำกับดูแลกิจการ และดำเนินการตามที่คณะกรรมการบริษัทเห็นสมควรต่อไป
  4. รายงานผลให้ผู้แจ้งเบาะแสหรือข้อร้องเรียนทราบ
          คณะกรรมการบริษัทจะรายงานผลให้ผู้แจ้งเบาะแสหรือข้อร้องเรียนทราบ ในกรณีที่ผู้แจ้งเบาะแสหรือข้อร้องเรียนเปิดเผยตนเอง


แนวทางในการปกป้องผู้แจ้งเบาะแสหรือผู้ร้องเรียน
      บริษัทได้มีการกำหนดแนวทางในการปกป้องผู้แจ้งเบาะแสหรือผู้ร้องเรียน เพื่อปกป้องการกลั่นแกล้ง ข่มขู่ หรือทำลายพยานหลักฐาน เช่น

 
  • ในการตรวจสอบข้อเท็จจริง บริษัทจะไม่เปิดเผยตัวผู้แจ้งเบาะแสหรือผู้ร้องเรียน
  • บริษัทจะเก็บข้อมูลเป็นความลับและจะเปิดเผยเท่าที่จำเป็น โดยคำนึงถึงความปลอดภัยและความเสียหายของผู้แจ้งเบาะแสหรือผู้ร้องเรียนหรือผู้ที่เกี่ยวข้อง
  • นอกเหนือจากแนวทางข้างต้นแล้ว หากผู้แจ้งเบาะแสหรือผู้ร้องเรียนเห็นว่าตนยังอาจได้รับความเดือดร้อนเสียหายอีก ตนยังสามารถร้องขอให้บริษัทกำหนดมาตรการคุ้มครองได้

 

ช่องทางสำหรับผู้มีส่วนได้เสียในการแจ้งเบาะแสหรือข้อร้องเรียน

      บริษัทได้จัดให้มีผู้รับแจ้งเบาะแสหรือข้อร้องเรียนใน 2 ช่องทาง ประกอบด้วย

1. กรรมการตรวจสอบและกำกับดูแลกิจการทั้ง 3 ท่าน ทาง Email ดังนี้

ดร.ปัญจะ เสนาดิศัย  ประธานคณะกรรมการตรวจสอบและกำกับดูแลกิจการ panja.sena@gmail.com
ศ.กิตติคุณ ดร.วินิต ช่อวิเชียร กรรมการตรวจสอบและกำกับดูแลกิจการ c_vinit@hotmail.com
ดร.ชัยพัฒน์ สหัสกุล กรรมการตรวจสอบและกำกับดูแลกิจการ chaipats@icloud.com


2. เลขานุการบริษัท ทางไปรษณีย์ โทรศัพท์ และ Email ดังนี้

ทางไปรษณีย์ถึง:
นางสาวฐิติมา เตียวประทีป 
เลขานุการบริษัท 
บริษัท ไพลอน จำกัด (มหาชน) 
เลขที่ 252 อาคารเอสพีอี ทาวเวอร์ ชั้นที่ 14  
ถนนพหลโยธิน แขวงสามเสนใน เขตพญาไท 
กรุงเทพมหานคร 10400

ทางโทรศัพท์ หมายเลข 02 615 1259 ต่อ 108

ทาง Email thitima@pylon.co.th

โดยในปี 2560 คณะกรรมการตรวจสอบและกำกับดูแลกิจการไม่ได้รับเรื่องร้องเรียนใดๆ ทั้งจากบุคคลภายใน และภายนอกองค์กร

หมวดที่ 4 การเปิดเผยข้อมูลและความโปร่งใส

     
      บริษัทจัดให้มีการเปิดเผยข้อมูลสำคัญที่เกี่ยวข้องกับบริษัท ทั้งข้อมูลทางการเงินและข้อมูลที่มิใช่ข้อมูลทางการเงินทางเว็บไซต์ของบริษัท โดยบริษัทได้เปิดเผยข้อมูลขององค์กร การกำกับดูแลกิจการที่ดี โครงสร้างผู้ถือหุ้น โครงสร้างคณะกรรมการบริษัท รวมทั้งข่าวสารต่างๆ ของบริษัททั้งจากภายในและภายนอกทางเว็บไซต์ของบริษัท  ซึ่งข้อมูลส่วนใหญ่จะมีทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ และสามารถดาวน์โหลดรายงานประจำปี แบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี (แบบ56-1) และงบการเงินของบริษัทได้ ซึ่งจะทำให้ผู้ถือหุ้นหรือนักลงทุนสามารถเข้าถึงข้อมูลได้สะดวก 
     
      นอกจากนี้ บริษัทได้จัดตั้งทีมงานนักลงทุนสัมพันธ์ เพื่อทำหน้าที่สื่อสารกับผู้ถือหุ้น นักลงทุน และนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ทั่วไปอย่างเท่าเทียมกัน ซึ่งผู้บริหารมีส่วนร่วมในการให้ข้อมูลและพบปะนักลงทุน เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ดีต่อการบริหารงานของบริษัท และได้กำหนดช่วงเวลางดรับนัดหรือตอบคำถามเกี่ยวกับผลประกอบการในอนาคตอันใกล้ให้แก่นักวิเคราะห์ และนักลงทุน (Quiet Period) ไว้ 1 เดือน ก่อนการเปิดเผยงบการเงิน โดยกิจกรรมในปี 2560 มีดังนี้

  • การนำเสนอข้อมูลต่อนักลงทุน (Road Show) จำนวน 3 ครั้ง
  • โครงการพบปะผู้บริหาร (Analyst and Investor Meeting) จำนวน 18 ครั้ง
  • การแถลงข่าวผลประกอบการและทิศทางการดำเนินธุรกิจ (Opportunity Day) 4 ครั้ง

      ทั้งนี้บริษัทได้มีการปรับปรุงข้อมูลในเว็บไซต์ให้ครบถ้วนและเป็นปัจจุบันอยู่เสมอ โดยข้อมูลที่บริษัทนำเสนอผ่านเว็บไซต์นั้นมีทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ซึ่งสามารถสรุปหัวข้อได้ดังนี้

  • ลักษณะการดำเนินธุรกิจของบริษัท
  • งบการเงินของบริษัท
  • เอกสารข่าว (Press Release) ของบริษัท
  • โครงสร้างการถือหุ้นของบริษัท
  • โครงสร้างองค์กร
  • ข้อมูลเกี่ยวกับคณะกรรมการและผู้บริหาร
  • ข้อมูลด้านนักลงทุนสัมพันธ์
  • ข้อบังคับของบริษัท
  • รายงานประจำปี (สามารถดาวน์โหลดได้)
  • หนังสือนัดประชุมผู้ถือหุ้นสามัญประจำปี (สามารถดาวน์โหลดได้)
  • รายงานการประชุมผู้ถือหุ้นสามัญประจำปี (สามารถดาวน์โหลดได้)

      ในรอบปีที่ผ่านมา บริษัทไม่เคยมีประวัติการถูกสั่งให้แก้ไขงบการเงินโดยสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และได้เปิดเผยงบการเงินประจำปีและรายไตรมาส ต่อผู้ถือหุ้นและนักลงทุนก่อนครบกำหนดระยะเวลา

      บริษัทตระหนักถึงความสำคัญในการเปิดเผยข้อมูลสารสนเทศแก่ผู้ลงทุนเพื่อให้นักลงทุนได้รับทราบข้อมูลที่ถูกต้อง โปร่งใส และทั่วถึง บริษัทจึงจัดทีมงานนักลงทุนสัมพันธ์เพื่อรับผิดชอบติดต่อประสานงานกับนักลงทุน และผู้ถือหุ้น โดยสามารถติดต่อได้ที่ email: info@pylon.co.th หรือติดต่อที่

  1. นางสาวฐิติมา เตียวประทีป        หมายเลขโทรศัพท์ 02-615-1259 ต่อ 108

Email : thitima@pylon.co.th

  1. นายวีรทัศน์ จิรเดชวิโรจน์          หมายเลขโทรศัพท์ 02-615-1259 ต่อ 401

Email : veeratas@pylon.co.th

  1. นายชัยพล สุทธมนัสวงษ์          หมายเลขโทรศัพท์ 02-615-1259 ต่อ 301

Email : chaiyaphol@pylon.co.th

  1. นางสาวนิภาวรรณ โรจนบัณฑิต  หมายเลขโทรศัพท์ 02-661-8242 ต่อ 302

Email : nipawan@pylon.co.th 

หมวดที่ 5 ความรับผิดชอบของคณะกรรมการ

     
      คณะกรรมการบริษัทมีจำนวน 10 ท่าน โดยแบ่งเป็นกรรมการอิสระจำนวน 4 ท่าน และกรรมการที่เป็นผู้บริหารจำนวน 4 ท่าน และกรรมการที่ไม่เป็นผู้บริหารอีก 2 ท่าน ซึ่งคณะกรรมการบริษัทประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิหลากหลายสาขา ทั้งด้านกฎหมาย บัญชี การเงินการธนาคาร เศรษฐศาสตร์ การกำกับดูแล รวมถึงงานวิศวกรรม ซึ่งล้วนแต่เกี่ยวข้องกับธุรกิจของบริษัท 

      ทั้งนี้ คณะกรรมการบริษัทได้กำหนดคุณสมบัติของกรรมการอิสระที่เข้มกว่าข้อกำหนดของก.ล.ต.และตลท. คณะกรรมการบริษัทได้แต่งตั้งคณะกรรมการชุดย่อยจำนวน 3 ชุด ได้แก่ คณะกรรมการตรวจสอบและกำกับดูแลกิจการ คณะกรรมการบริหารกิจการและบริหารความเสี่ยง และคณะกรรมการสรรหาและพิจารณาค่าตอบแทน โดยคณะกรรมการชุดย่อยมีขอบเขตอำนาจหน้าที่ และคุณสมบัติซึ่งกำหนดโดยคณะกรรมการบริษัท ทั้งนี้ คณะกรรมการชุดย่อยจะรายงานผลการปฏิบัติงานให้คณะกรรมการบริษัทรับทราบเป็นรายไตรมาส และคณะกรรมการบริหารกิจการและบริหารความเสี่ยงจะรายงานผลการดำเนินงานให้คณะกรรมการบริษัทรับทราบเป็นรายไตรมาส

บทบาทหน้าที่ และความรับผิดชอบของคณะกรรมการบริษัท

5.1    หน้าที่คณะกรรมการบริษัท          

      คณะกรรมการบริษัทได้พิจารณาอนุมัติวิสัยทัศน์ ทิศทางแนวโน้มของธุรกิจ ประมาณการรายได้ประจำปี รวมถึงพิจารณาอนุมัติงบประมาณลงทุนประจำปี นอกจากนี้ได้พิจารณาทบทวนนโยบายการกำกับดูแลกิจการที่ดี และนโยบายการบริหารความเสี่ยง รวมถึงรายการที่อาจมีความขัดแย้งทางผลประโยชน์ (ถ้ามี) และให้ความเห็นเรื่องความเพียงพอของระบบควบคุมภายใน โดยตั้งแต่ปี 2550 คณะกรรมการบริษัทได้เริ่มมีการประเมินผลการปฏิบัติงานทั้งคณะ ส่วนค่าตอบแทนกรรมการ คณะกรรมการบริษัทได้กำหนดนโยบายและหลักเกณฑ์การจ่ายค่าตอบแทน ซึ่งได้ผ่านการอนุมัติจากผู้ถือหุ้น ทั้งนี้ ได้มีการเปรียบเทียบกับอุตสาหกรรมและพิจารณาผลการดำเนินงานของบริษัทประกอบ นอกจากนี้คณะกรรมการบริษัทได้กำหนดค่าตอบแทนให้แก่คณะกรรมการชุดย่อย ยกเว้นคณะกรรมการบริหารกิจการและบริหารความเสี่ยงรวมถึงกรรมการผู้จัดการใหญ่ที่ได้รับผลตอบแทนในฐานะพนักงานบริษัทแล้ว ส่วนค่าตอบแทนกรรมการผู้จัดการใหญ่จะมีการกำหนดตามผลการประเมินของคณะกรรมการสรรหาและพิจารณาค่าตอบแทนเริ่มตั้งแต่การปฏิบัติงานในปี 2551

วิสัยทัศน์ ภารกิจ และกลยุทธ์ของบริษัท 

      คณะกรรมการมีการกำหนดวิสัยทัศน์ เป้าหมาย(ที่สอดคล้องกับภารกิจ) และได้มีส่วนร่วมในการพิจารณาทบทวนและอนุมัติวิสัยทัศน์ เป้าหมาย กลยุทธ์ และทิศทางการดำเนินงานในแต่ละปี รวมถึงได้ติดตามดูแลให้มีการนำกลยุทธ์ของบริษัทไปปฏิบัติ 

นโยบายและวิธีปฏิบัติในการดำรงตำแหน่งกรรมการบริษัทอื่นของกรรมการและกรรมการผู้จัดการใหญ่

      คณะกรรมการบริษัทให้ความสำคัญกับประสิทธิภาพในการปฏิบัติหน้าที่ของกรรมการ เพื่อให้กรรมการสามารถอุทิศเวลาในการกำกับดูแลกิจการของบริษัทได้อย่างเต็มที่ จึงกำหนดเป็นนโยบายในการจำกัดจำนวนบริษัทจดทะเบียนที่กรรมการดำรงตำแหน่งกรรมการได้ไม่เกิน 5 แห่ง โดยในปัจจุบันไม่มีกรรมการบริษัทที่ดำรงตำแหน่งกรรมการบริษัทจดทะเบียนเกินหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้

      นอกจากนี้คณะกรรมการบริษัทได้กำหนดนโยบายในการไปดำรงตำแหน่งกรรมการที่บริษัทอื่นของกรรมการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ดังนี้ คือ กรรมการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ จะต้องไม่ประกอบกิจการอันมีสภาพอย่างเดียวกันและเป็นการแข่งขันกับกิจการของบริษัท หรือเข้าเป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนสามัญ หรือเป็นหุ้นส่วนไม่จำกัดความรับผิดในห้างหุ้นส่วนจำกัด หรือเป็นกรรมการของบริษัทเอกชน หรือบริษัทอื่นที่ประกอบกิจการอันมีสภาพอย่างเดียวกัน และเป็นการแข่งขันกับกิจการของบริษัทไม่ว่าจะทำเพื่อประโยชน์ตนหรือเพื่อประโยชน์ผู้อื่น เว้นแต่จะได้แจ้งให้ที่ประชุมผู้ถือหุ้นทราบก่อนที่จะมีมติแต่งตั้ง 

      โดยในปัจจุบันกรรมการ และกรรมการผู้จัดการใหญ่ไม่ได้ดำรงตำแหน่งกรรมการบริษัทอื่นที่ประกอบกิจการอันมีสภาพอย่างเดียวกันและเป็นการแข่งขันกับกิจการของบริษัท นอกจากนี้กรรมการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ไม่ได้เข้าเป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนสามัญ หรือเป็นหุ้นส่วนไม่จำกัดความรับผิดในห้างหุ้นส่วนจำกัด หรือเป็นกรรมการของบริษัทเอกชน หรือบริษัทอื่นที่ประกอบกิจการอันมีสภาพอย่างเดียวกันและเป็นการแข่งขันกับกิจการบริษัท

การกำหนดวาระการดำรงตำแหน่งกรรมการ

      บริษัทได้ถือปฏิบัติตาม พระราชบัญญัติมหาชน จำกัด พ.ศ.2535  ให้กรรมการออกจากตำแหน่งจำนวนหนึ่งในสามในการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี โดยคณะกรรมการบริษัท ประกอบด้วยบุคคลที่มีความรู้ ความสามารถ โดยบริษัทได้จัดให้มีจำนวนกรรมการที่เหมาะสมกับขนาดของกิจการบริษัท ในปัจจุบันมีกรรมการทั้งหมด 10 คน ซึ่งเป็นกรรมการที่เป็นผู้บริหารจำนวน 4 คน กรรมการที่ไม่ได้เป็นผู้บริหาร 2 คน กรรมการอิสระ 4 คน ทั้งนี้กรรมการแต่ละคนมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ 3 ปี

จริยธรรมทางธุรกิจและข้อพึงปฏิบัติการทำงาน

      บริษัทได้ดำเนินธุรกิจและบริหารงานอย่างมีจรรยาบรรณ และให้ความสำคัญกับความสำเร็จตามวัตถุประสงค์ของการบริหารงาน โดยยึดถือความมีจริยธรรม ความซื่อสัตย์ สุจริต เป็นหลักในการทำธุรกรรม รวมถึงการดูแลผู้มีส่วนได้เสียกลุ่มต่างๆ รายการระหว่างกัน การปฏิบัติตามกฎหมายและการป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์ โดยได้จัดทำจริยธรรมธุรกิจ และข้อพึงปฏิบัติในการทำงานเพื่อเป็นคู่มือวิธีการปฏิบัติงานให้เกิดความสำเร็จ และได้จัดการอบรมเพื่อให้กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานเห็นความสำคัญและนำไปฏิบัติ โดยในปี 2560 กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานของบริษัทได้ปฏิบัติตามจริยธรรมธุรกิจอย่างเคร่งครัด โดยบริษัท เปิดเผยไว้ในเว็บไซต์ของบริษัท

นโยบายความขัดแย้งทางผลประโยชน์

      คณะกรรมการบริษัทได้กำหนดนโยบายเกี่ยวกับความขัดแย้งทางผลประโยชน์ และแนวทางการปฏิบัติสำหรับกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงาน เพื่อป้องกันปัญหาความขัดแย้งทางผลประโยชน์ไว้ในจริยธรรมธุรกิจ
     
      นอกจากนี้ คณะกรรมการบริษัทยังมีนโยบายให้กรรมการแต่ละคนต้องรายงานการมีส่วนได้เสียให้บริษัททราบทุกครั้งที่เกิดรายการที่มีความขัดแย้งทางผลประโยชน์ โดยเลขานุการบริษัทจะจัดส่งสำเนาให้ประธานกรรมการบริษัททราบด้วย

ระบบควบคุมภายใน และการบริหารความเสี่ยง

      คณะกรรมการบริษัทให้ความสำคัญต่อระบบการควบคุมภายใน โดยในการประชุมคณะกรรมการบริษัทครั้งที่ 5/2560 เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2560 คณะกรรมการบริษัทได้ประเมินความเพียงพอของระบบควบคุมภายในจากรายงานของคณะกรรมการตรวจสอบและกำกับดูแลกิจการ (ซึ่งได้มีการพิจารณาในที่ประชุมครั้งที่ 5/2560 เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2560) การพิจารณาจากรายงานของผู้ตรวจสอบภายในอิสระ (ซึ่งเป็นไปตามแบบประเมินที่สำนักงาน ก.ล.ต. ได้ปรับปรุง และประกาศใช้เมื่อเดือน สิงหาคม 2556 ตามกรอบแนวทางการปฏิบัติด้านการควบคุมภายในของ COSO ฉบับปี 2013 ซึ่งครอบคลุมองค์ประกอบของระบบควบคุมภายใน 5 ส่วน คือ การควบคุมภายในองค์กร การประเมินความเสี่ยง การควบคุมการปฏิบัติงาน ระบบสารสนเทศและการสื่อสารข้อมูล และระบบการติดตาม ที่มีการขยายความเป็นหลักการย่อยๆ อีก 17 หลักการ) และรายงานของฝ่ายบริหาร รวมถึงการตอบข้อซักถามของฝ่ายบริหาร ซึ่งสรุปได้ว่า จากการประเมินระบบควบคุมภายในของบริษัทในด้านต่างๆ 5 ส่วน คณะกรรมการบริษัทมีความเห็นว่า บริษัทมีการควบคุมภายในที่มีความเหมาะสมและเพียงพอ ทั้งนี้รายละเอียดเรื่องระบบควบคุมภายใน บริษัทได้เปิดเผยไว้ในหัวข้อที่ 11 เรื่องการควบคุมภายใน

      นอกจากนี้ คณะกรรมการบริษัทได้มีการดำเนินการเพื่อให้มั่นใจว่าบริษัทมีนโยบายบริหารความเสี่ยง (Risk Management Policy) และมีระบบจัดการที่มีประสิทธิผลครอบคลุมทั่วทั้งองค์กร โดยคณะกรรมการบริษัทได้มอบหมายให้คณะกรรมการบริหารกิจการและบริหารความเสี่ยง รายงานการจัดการด้านความเสี่ยงต่อคณะกรรมการตรวจสอบและกำกับดูแลกิจการ และจัดให้มีระบบจัดการที่มีประสิทธิผลครอบคลุมทั้งองค์กร โดยให้คณะกรรมการบริหารกิจการและบริหารความเสี่ยงรายงานต่อคณะกรรมการตรวจสอบและกำกับดูแลกิจการเพื่อให้ได้รับทราบและให้ข้อแนะนำต่างๆ เป็นประจำทุกไตรมาส และให้คณะกรรมการตรวจสอบและกำกับดูแลกิจการรายงานให้คณะกรรมการบริษัทรับทราบถึงความเสี่ยงต่างๆ และแนวทางการจัดการของบริษัท ทั้งนี้เพื่อให้สามารถปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ แผนงาน และวิธีการบริหารจัดการได้อย่างทันท่วงที โดยรายละเอียดเรื่องการบริหารความเสี่ยง บริษัทได้เปิดเผยไว้ในหัวข้อปัจจัยเสี่ยงเรียบร้อยแล้ว 

5.2    การประชุมคณะกรรมการบริษัท

      คณะกรรมการบริษัท มีการกำหนดการประชุมคณะกรรมการบริษัทเป็นการล่วงหน้าทุกปี และจัดประชุมไม่น้อยกว่า 6 ครั้งในแต่ละปี รวมทั้งมีการประชุมกรณีพิเศษตามความจำเป็น นอกจากนี้ กรรมการที่ไม่เป็นผู้บริหารได้มีการประชุมระหว่างกันอย่างน้อยปีละ 1 ครั้งเพื่ออภิปรายปัญหาต่างๆ เกี่ยวกับการจัดการโดยไม่มีฝ่ายจัดการร่วมด้วย โดยในการประชุมคณะกรรมการบริษัทแต่ละครั้งมีการกำหนดวาระการประชุมที่ชัดเจนทั้งวาระเพื่อทราบ และวาระเพื่อพิจารณา มีเอกสารประกอบการประชุมที่ครบถ้วน เพียงพอ และจัดส่งวาระการประชุมให้กับคณะกรรมการบริษัทล่วงหน้าอย่างน้อย 7 วัน เพื่อให้คณะกรรมการบริษัทได้มีเวลาศึกษาข้อมูลอย่างเพียงพอก่อนเข้าร่วมประชุม ในการประชุมประธานได้จัดสรรเวลาอย่างเพียงพอ เพื่อให้กรรมการทุกคนสามารถอภิปรายและแสดงความเห็นร่วมกันได้อย่างเปิดเผย โดยมีประธานกรรมการเป็นผู้ประมวลความเห็นและข้อสรุปที่ได้จากที่ประชุม บันทึกการประชุมได้มีการจัดทำเป็นลายลักษณ์อักษรโดยเลขานุการคณะกรรมการบริษัท และหลังจากที่ผ่านการรับรองจากที่ประชุมจะถูกจัดเก็บไว้ที่ตู้ห้องเก็บเอกสารสำคัญของบริษัท สำนักงานใหญ่ ชั้น 7 อาคารโอเชี่ยนทาวเวอร์1 เพื่อให้กรรมการและผู้ที่เกี่ยวข้องตรวจสอบได้ 

      ทั้งนี้ บริษัทได้กำหนดนโยบายเกี่ยวกับองค์ประชุมขั้นต่ำ ณ ขณะที่คณะกรรมการบริษัทจะลงมติในที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทว่าต้องมีกรรมการอยู่ไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของจำนวนกรรมการทั้งหมด

      กรรมการทุกคนถือเป็นหน้าที่ที่ต้องเข้าร่วมประชุมคณะกรรมการบริษัททุกครั้งยกเว้นมีเหตุจำเป็น โดยในปี 2560 คณะกรรมการบริษัทได้จัดการประชุมทั้งสิ้น 6 ครั้ง และมีอัตราการเข้าร่วมประชุมของกรรมการคิดเป็นร้อยละ 96.6 นอกจากนี้ยังจัดให้มีการประชุมระหว่างกรรมการที่ไม่เป็นผู้บริหารเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2561 โดยมีอัตราการเข้าร่วมประชุมของกรรมการที่ไม่เป็นผู้บริหารเข้าร่วมประชุมคิดเป็นร้อยละ 100 

      โดยรายละเอียดการเข้าร่วมประชุมของกรรมการแต่ละท่านได้เปิดเผยในหัวข้อที่ 8 การจัดการเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

5.3    การประเมินผลการปฏิบัติงานประจำปีของคณะกรรมการบริษัท คณะกรรมการชุดย่อย และกรรมการผู้จัดการใหญ่

การประเมินผลคณะกรรมการบริษัท    
      คณะกรรมการจัดให้มีการประเมินผลการปฏิบัติงานของคณะกรรมการบริษัททั้งคณะปีละครั้ง โดยประกอบไปด้วย 6 หัวข้อดังต่อไปนี้
1. โครงสร้างและคุณสมบัติของคณะกรรมการ
2. บทบาท หน้าที่ และความรับผิดชอบของคณะกรรมการ
3. การประชุมคณะกรรมการ
4. การทำหน้าที่ของกรรมการ
5. ความสัมพันธ์กับฝ่ายจัดการ
6. การพัฒนาตนเองของกรรมการและการพัฒนาผู้บริหาร

โดยมีกระบวนการดังนี้
เลขานุการบริษัทของคณะกรรมการจะจัดส่งแบบฟอร์มให้กรรมการแต่ละท่านทำการประเมิน และจัดส่งกลับมาเพื่อรวบรวมและสรุปผลการประเมินให้ที่ประชุมรับทราบในเดือนธันวาคมของทุกปี หากในประเด็นใดที่ได้คะแนนต่ำกว่าระดับ C จะนำไปปรับปรุงแก้ไขต่อไป โดยในปี 2560 ผลการประเมินทั้งคณะอยู่ในระดับดีเยี่ยม

การประเมินผลกรรมการรายบุคคล 
        การประเมินผลกรรมการรายบุคคล ครอบคลุม 3 หัวข้อ ดังนี้
1. โครงสร้างและคุณสมบัติของคณะกรรมการ
2. การประชุมของคณะกรรมการ
3. บทบาท หน้าที่ และความรับผิดชอบของคณะกรรมการ

โดยมีกระบวนการดังนี้
เลขานุการบริษัทจะจัดส่งแบบฟอร์มให้กรรมการแต่ละท่านทำการประเมิน และจัดส่งกลับมาเพื่อรวบรวมและสรุปผลการประเมินให้ที่ประชุมรับทราบในเดือนธันวาคมของทุกปี
ทั้งนี้สามารถสรุปได้ว่า กรรมการมีคุณสมบัติ มีองค์ประกอบที่เหมาะสม และได้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบอย่างดีเยี่ยม เหมาะสมตามแนวทางการปฏิบัติที่ดีของกรรมการ ส่งผลให้การประชุมคณะกรรมการบริษัทเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

การประเมินผลคณะกรรมการชุดย่อยแบบรายคณะ และรายบุคคล
        การประเมินผลคณะกรรมการชุดย่อยแบบรายคณะ และรายบุคคล ได้แก่ คณะกรรมการตรวจสอบและกำกับดูแลกิจการ คณะกรรมการสรรหาและพิจารณาค่าตอบแทน เป็นการใช้แบบประเมินตนเองของคณะกรรมการชุดย่อยตามที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยจัดทำไว้เป็นตัวอย่าง ซึ่งสอดคล้องกับหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีและหน้าที่ความรับผิดชอบของคณะกรรมการแต่ละชุด

     โดยในปี 2560 ได้ดำเนินการประเมินผลแบบรายคณะและรายบุคคล ซึ่งครอบคลุม 3 หัวข้อ ดังนี้
1. โครงสร้างและคุณสมบัติของคณะกรรมการ
2. การประชุมคณะกรรมการชุดย่อย
3. บทบาท หน้าที่ และความรับผิดชอบของคณะกรรมการชุดย่อย

โดยมีกระบวนการดังนี้ 
เลขานุการบริษัทจะจัดส่งแบบฟอร์มให้กรรมการแต่ละท่านทำการประเมิน และจัดส่งกลับมาเพื่อรวบรวมและสรุปผลการประเมินให้ที่ประชุมรับทราบในเดือนธันวาคมของทุกปี
ซึ่งผลการประเมินสรุปได้ว่า คณะกรรมการตรวจสอบและกำกับดูแลกิจการ และคณะกรรมการสรรหาและพิจารณาค่าตอบแทน มีองค์ประกอบที่เหมาะสม และปฏิบัติหน้าที่ได้ครบถ้วนตามกฎบัตรที่บริษัทกำหนด 

การประเมินผลงานของกรรมการผู้จัดการใหญ่และนโยบายค่าตอบแทน
      คณะกรรมการบริษัท ได้กำหนดให้มีการประเมินผลการปฏิบัติงานของกรรมการผู้จัดการใหญ่เป็นประจำทุกปี โดยใช้เป้าหมายและหลักเกณฑ์ในการประเมินที่เชื่อมโยงกับความสำเร็จตามแผนการดำเนินงาน (Key Performance Indicators หรือ KPI) เพื่อพิจารณากำหนดค่าตอบแทน และเงินรางวัลจูงใจที่เหมาะสม

      ทั้งนี้นโยบายค่าตอบแทนของกรรมการผู้จัดการใหญ่ นอกจากจะขึ้นอยู่กับผลประเมินการปฏิบัติงาน (KPI) ตามที่กล่าวมาข้างต้น ยังกำหนดให้สอดคล้องกับคุณสมบัติและความสามารถ สถานภาพของบริษัท รวมถึงระดับค่าตอบแทนในอุตสาหกรรมด้วย โดยมีค่าตอบแทนในรูปโบนัสและการปรับขึ้นเงินเดือน เป็นต้น


ค่าตอบแทนกรรมการและผู้บริหาร

ค่าตอบแทนกรรมการ
      บริษัทมีการกำหนดนโยบายและหลักเกณฑ์การจ่ายค่าตอบแทนกรรมการที่ชัดเจน โดยพิจารณาตามหลักเกณฑ์ของความโปร่งใส  สามารถตรวจสอบได้  รวมทั้งอยู่ในระดับที่เหมาะสมและเพียงพอที่จะจูงใจและรักษากรรมการที่มีคุณภาพตามที่ต้องการ เปรียบเทียบได้กับระดับที่ปฏิบัติอยู่ในอุตสาหกรรม ประสบการณ์ ภาระหน้าที่ ขอบเขตความรับผิดชอบ (Accountability and Responsibility) รวมถึงประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากกรรมการแต่ละท่าน โดยกำหนดองค์ประกอบเป็น 3 ส่วน คือ (1) ค่าตอบแทนรายเดือนซึ่งสะท้อนความรับผิดชอบในฐานะกรรมการ (2) เบี้ยประชุมเพื่อแสดงให้เห็นความสำคัญ และการอุทิศเวลาในการเข้าประชุม (3) โบนัสซึ่งเป็นค่าตอบแทนพิเศษที่จ่ายให้กับกรรมการปีละครั้งตามมูลค่าที่สร้างให้แก่ผู้ถือหุ้น โดยมีคณะกรรมการสรรหาและพิจารณาค่าตอบแทน ทำหน้าที่พิจารณากำหนดค่าตอบแทนกรรมการในเบื้องต้น เพื่อนำเสนอที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทพิจารณาก่อนนำเสนอที่ประชุมผู้ถือหุ้นอนุมัติเป็นประจำทุกปี

ค่าตอบแทนผู้บริหาร
      กรรมการผู้จัดการใหญ่จะเป็นผู้พิจารณาความเหมาะสมในการกำหนดค่าตอบแทนและการปรับค่าจ้างประจำปีของผู้บริหาร โดยผู้บริหารจะได้รับค่าตอบแทนเป็นเงินเดือนและโบนัส ซึ่งเชื่อมโยงกับผลการดำเนินงานของบริษัท และผลงานของแต่ละบุคคลตามระบบ Key Performance Indicators
      ทั้งนี้รายละเอียดค่าตอบแทนกรรมการและผู้บริหาร ได้เปิดเผยไว้ในหัวข้อ ค่าตอบแทนกรรมการและผู้บริหารภายใต้หัวข้อที่ 8 การจัดการ

การพัฒนากรรมการและผู้บริหาร และแผนการสืบทอดตำแหน่งผู้บริหาร
    
การพัฒนากรรมการ
 
    
      คณะกรรมการบริษัทมีนโยบายส่งเสริมให้กรรมการพัฒนาความรู้อย่างต่อเนื่อง โดยให้มีการฝึกอบรม และการให้ความรู้ที่เกี่ยวข้องแก่กรรมการ เพื่อเพิ่มศักยภาพและปรับปรุงการปฏิบัติงานอย่างต่อเนื่อง อาทิเช่น ส่งเสริมให้มีการจัดส่งกรรมการ เข้าอบรมหลักสูตรหรือกิจกรรมสัมมนาต่างๆ เพื่อพัฒนาศักยภาพ ความรู้ และประสบการณ์ 
      ทั้งนี้คณะกรรมการบริษัทสนับสนุนให้กรรมการอย่างน้อย 1 คนเข้าอบรมหลักสูตรหรือเข้าร่วมกิจกรรมสัมมนาที่เป็นการเพิ่มพูนความรู้ในการปฏิบัติงานในรอบปีที่ผ่านมา 
      โดยในปี 2560 มีกรรมการบริษัทจำนวน 1 ท่านได้เข้าอบรมหลักสูตร Corporate disclosures : what are investors looking for beyond financial measures? ของสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย(IOD) ซึ่งเป็นประโยชน์ในการปฏิบัติหน้าที่กรรมการ 
      ในกรณีกรรมการเข้าใหม่ บริษัทได้จัดเตรียมข้อมูลและกำหนดให้มีการปฐมนิเทศกรรมการเข้าใหม่ เพื่อให้กรรมการมีความรู้ความเข้าใจในธุรกิจของบริษัทและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง และได้พบปะกับผู้บริหารเพื่อให้กรรมการสามารถสอบถามข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับการทำธุรกิจของบริษัท รวมทั้งสนับสนุนให้กรรมการใหม่ได้เข้ารับการอบรมหลักสูตรกรรมการของ IOD 
      ในปี 2560 มีกรรมการเข้าใหม่จำนวน 1 คน ได้รับการปฐมนิเทศซึ่งบรรยายโดยกรรมการผู้จัดการใหญ่ เนื้อหาครอบคลุมถึงลักษณะการประกอบธุรกิจ โครงสร้างและองค์ประกอบของคณะกรรมการบริษัทและคณะกรรมการชุดย่อย จรรยาบรรณ และหลักการกำกับดูแลกิจการ เป็นต้น

    
แผนพัฒนาและสืบทอดตำแหน่งผู้บริหาร
 

      คณะกรรมการบริษัทได้มอบหมายให้คณะกรรมการบริหารกิจการและบริหารความเสี่ยงจัดทำแผนสืบทอดตำแหน่งตั้งแต่ระดับผู้อำนวยการฝ่ายขึ้นไปจนถึงระดับกรรมการผู้จัดการใหญ่ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าบริษัทมีผู้บริหารที่มีความรู้ ความสามารถเพียงพอต่อการปฏิบัติหน้าที่ ในการนี้แผนการสืบทอดตำแหน่งดังกล่าวรวมถึงแผนพัฒนาศักยภาพผู้บริหาร และการกำหนดความรู้ความสามารถ ประสบการณ์ของแต่ละตำแหน่ง เพื่อเตรียมความพร้อมเมื่อเกิดกรณีที่ผู้บริหารไม่สามารถปฏิบัติงานได้
 

คณะกรรมการชุดย่อย

      เพื่อให้คณะกรรมการบริษัทสามารถศึกษาและตรวจสอบข้อมูลในประเด็นที่สำคัญได้อย่างรอบคอบ คณะกรรมการบริษัทได้แต่งตั้งกรรมการที่มีความรู้ความชำนาญที่เหมาะสมเป็นคณะกรรมการชุดย่อยเพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของการกำกับดูแล ได้แก่ คณะกรรมการตรวจสอบและกำกับดูแลกิจการ คณะกรรมการสรรหาและพิจารณาค่าตอบแทน คณะกรรมการบริหารกิจการและบริหารความเสี่ยง เป็นต้น ทั้งนี้ โครงสร้างคณะกรรมการชุดย่อย หน้าที่ความรับผิดชอบตามกฎบัตรกรรมการชุดย่อยทั้ง 3 ชุด ได้เปิดเผยไว้ในหัวข้อที่ 8 การจัดการ
นอกจากนี้ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท ครั้งที่ 2/2559 เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2559 ได้มีมติจัดตั้ง CG Committee และ Risk Management Committee โดยมอบหมายให้
1. คณะกรรมการตรวจสอบทำหน้าที่คณะกรรมการกำกับดูแลกิจการด้วย โดยเปลี่ยนชื่อเป็น คณะกรรมการตรวจสอบและกำกับดูแลกิจการ (Audit and CG Committee)  
2. คณะกรรมการบริหารทำหน้าที่คณะกรรมการบริหารความเสี่ยงด้วย โดยเปลี่ยนชื่อเป็น คณะกรรมการบริหารกิจการและบริหารความเสี่ยง (Executive and Risk Management Committee)
 

การดูแลเรื่องการใช้ข้อมูลภายใน

บริษัทมีนโยบายมิให้กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานที่รับทราบข้อมูลภายในนำข้อมูลภายในไปใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตนและผู้อื่น โดยบริษัทมีแนวทางปฏิบัติดังต่อไปนี้
1. บริษัทให้ความรู้แก่กรรมการและผู้บริหารเกี่ยวกับการใช้ข้อมูลภายใน หน้าที่ในการรายงานการซื้อขายหลักทรัพย์ของบริษัทและบริษัทย่อย ของตน คู่สมรส และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ รวมถึงบทกำหนดโทษตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และตามข้อกำหนดของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
2. กรรมการและผู้บริหารมีหน้าที่จัดทำและส่งรายงานการถือหลักทรัพย์ของบริษัทของตน คู่สมรส และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ โดยต้องรายงานดังนี้

  • รายงานการถือหลักทรัพย์ครั้งแรก (แบบ 59-1) ภายใน 30 วันนับแต่วันปิดการเสนอขายหลักทรัพย์ต่อประชาชน หรือวันที่ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งกรรมการหรือผู้บริหาร

  • รายงานการเปลี่ยนแปลงการถือหลักทรัพย์ (แบบ 59-2) อันเนื่องมาจากการซื้อ ขาย โอนหรือรับโอนหลักทรัพย์ ทั้งนี้ ภายใน 3 วันทำการนับตั้งแต่มีการซื้อ ขาย โอนหรือรับโอนหลักทรัพย์นั้น และให้ส่งสำเนารายงานการถือหลักทรัพย์ดังกล่าวให้แก่บริษัทภายในวันที่ส่งรายงานดังกล่าวให้แก่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

3. กำหนดให้ กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานที่รับทราบข้อมูลภายในที่มีนัยสำคัญที่อาจส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของราคาซื้อขายหลักทรัพย์ จะต้องระงับการซื้อหรือขายหลักทรัพย์ของบริษัทในช่วง 1 เดือนก่อนที่บริษัทจะมีการประกาศผลการดำเนินงาน (กำหนดเวลาในการประกาศผลการดำเนินงาน คือ 45 วันนับจากวันสิ้นไตรมาส และ 60 วันนับจากวันสิ้นปีบัญชี) หรือก่อนที่ข้อมูลภายในนั้นจะเปิดเผยต่อสาธารณชน 
4. บริษัทมีจริยธรรมธุรกิจและข้อพึงปฎิบัติในการทำงานเป็นลายลักษณ์อักษร ซึ่งมีข้อห้ามเกี่ยวกับการใช้ข้อมูลภายใน เพื่อประโยชน์ของกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานในการซื้อขายหุ้นของบริษัท หรือให้ข้อมูลภายในแก่บุคคลอื่น เพื่อประโยชน์ในการซื้อขายหุ้นของบริษัท

      หากพบว่ากรรมการหรือผู้บริหารรวมทั้งพนักงานที่รับทราบข้อมูลภายในฝ่าฝืนจริยธรรมธุรกิจ และข้อพึงปฏิบัติในการทำงานในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการใช้ข้อมูลภายใน และทำให้บริษัทได้รับความเสื่อมเสียหรือเสียหาย บริษัทจะดำเนินการตามที่เห็นว่าเหมาะสมซึ่งรวมถึงการประสานงานกับหน่วยงานกำกับดูแลที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป